พาณิชย์ เผยส่งออก พ.ค.67 บวก 7.2 % มูลค่า 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงสุดรอบ 14 เดือน

21 มิถุนายน 2567
พาณิชย์ เผยส่งออก พ.ค.67 บวก 7.2 % มูลค่า 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงสุดรอบ 14 เดือน
ส่งออกเดือนพ.ค.มูลค่า 26,219 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 7.2 % ทำมูลค่าสูงสุดในรอบ 14 เดือน ดุลการค้ากลับมาเกินดุลในรอบ 5 เดือน โดยการส่งออกได้รับแรงหนุนจากการส่งออกสินค้าเกษตร ภาคการผลิตของโลกฟื้นตัว รวม 5 เดือนส่งออกขยายตัว 2.6%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์  (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า  การส่งออกเดือนพ.ค.2567 มีมูลค่า 26,219.5 ล้านดอลลาร์  เพิ่มขึ้น 7.2% โดยมูลค่าสูงสุดในรอบ 14 เดือน ให้ดุลการค้ากลับมาเกินดุลในรอบ 5 เดือน และขยายตัวเป็นบวก 2 เดือนติดต่อกัน หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 6.5 %  ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 25,563.3 ล้าน ติดลบ 1.7 %  ดุลการค้า เกินดุล 656.1 ล้านดอลลาร์  รวม 5 เดือน ของปี 2567 (ม.ค.- พ.ค.) การส่งออก มูลค่า 120,954.1 ล้าน เพิ่มขึ้น 2.6% การนำเข้า มูลค่า 125,954.1 ล้านดอลลาร์  เพิ่มขึ้น 3.5%  ขาดดุลการค้า 5,460.7 ล้านดอลลาร์

การส่งออกของไทยที่ขยายตัวได้รับแรงหนุนสำคัญจากการส่งออกสินค้าเกษตร เนื่องจากเป็นเดือนที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ขณะเดียวกันภาคการผลิตของโลกฟื้นตัวได้ดี สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของโลก (Global PMI) ที่มีทิศทางขยายตัวเร่งขึ้น ตามเศรษฐกิจโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการส่งออกในเดือนพ.ค.ที่ขยายตัว 7.2 % มาจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ที่ขยายตัว 19.4 % เป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าสินค้าเกษตร กลับมาขยายตัวถึง 36.5 % และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 0.8 % ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัว128.0 %  กลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน  ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง ไก่แปรรูป ไขมัน และน้ำมันจากพืชและสัตว์ ผลไม้กระป๋อง และแปร สิ่งปรุงรส  และนม และผลิตภัณฑ์นม

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว  อาหารทะเลกระป๋อง และแปรรูป  น้ำตาลทราย และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทั้งนี้ 5 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 4.7 %

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว  4.6 % โดยมีสินค้าสำคัญขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง ไม้ และผลิตภัณฑ์ไม้ ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง  แผงวงจรไฟฟ้า  เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบ ทั้งนี้ 5 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 2.4 %

ทางด้านตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว สอดคล้องกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่มีทิศทางดีขึ้น และแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก โดยตลาดหลัก ขยายตัว 8.0 %  ขยายตัวในสหรัฐ 9.1 %  CLMV  9.6 %  จีน 31.2 %  แต่ตลาดอาเซียน (5) ติดลบ  0.6 %  สหภาพยุโรป (27)   5.4 % ญี่ปุ่น 1.0 % ส่วน ตลาดรอง ขยายตัว 5.1 % โดยขยายตัวตลาดเอเชียใต้ 22.4 %  ลาตินอเมริกา 14.8 %  รัสเซีย และกลุ่ม CIS  2.7 %  ขณะที่หดตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย  1.4 % ตะวันออกกลาง 8.1% และแอฟริกา 19.0 % สหราชอาณาจักร  1.5 (3) % ขณะที่ตลาดอื่นๆ ขยายตัว 11.5 % เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 28.1 %

" ในเดือนพ.ค.นี้ ไทยกลับมาเกินดุลการค้าครั้งแรกในรอบ 5 เดือน หลักๆ มาจากมูลค่านำเข้ารถ EV ลดลง จึงทำให้มูลค่าการนำเข้าโดยรวมของเดือนพ.ค.นี้ลดลง นอกจากนี้เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา การส่งออกผลไม้ พลิกกลับมาเป็นบวกสูงถึง 128% โดยนี้เป็นการส่งออก ทุเรียน 83,059.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14 % แสดงให้เห็นว่า ทุเรียนของไทยยังส่งออกได้ดี โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีน หลังจากที่ลดลงช่วง 1-2 เดือนก่อนหน้า เพราะผลผลิตปีนี้ออกล่าช้า แต่พอเดือนพ.ค. ผลผลิตมีเต็มที่ ทำให้ส่งออกได้มากขึ้น และคาดว่าเดือนต่อๆ ไปก็จะส่งออกได้ดีขึ้น อีกทั้งยังมีทุเรียนภาคใต้ ที่จะเข้ามาเสริม ทำให้มั่นใจว่าไทยยังคงเป็นแชมป์ส่งออกไปจีนเหนือคู่แข่งแน่นอน " นายพูนพงษ์ กล่าว


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.